“วันเข้าพรรษา : ทางไทย ทางธรรม 4 วัดหลวง ในขอนแก่น (ตอนที่3)”

คอลัมภ์ประจำ : พบกันทุกวันเสาร์

(เริ่ม เสาร์ที่ 08 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป)

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาสินค้า OTOP ขอนแก่น บริหารงาน โดย บริษัท ขอนแก่น โอทอป อินเตอร์เทรดเดอร์ จำกัด มีการปรับปรุงศูนย์ฯ ภายใต้แนวคิดของ““ขอนแก่นโมเดล” คือ ภาครัฐ ร่วมกับ ภาคเอกชน เพื่อการบริหารจัดการ ที่คล่องตัว และคงไว้ซึ่งหลักการ “ธรรมาภิบาล”อย่างมั่นคง อันจะส่งผลดี ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บังเกิดความยั่งยืน ต่อบ้านเมือง สืบไป

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาสินค้า OTOP ขอนแก่น เปิดทำการ โฉมใหม่ หลังจากที่มีการปรับปรุง ด้วย “ขอนแก่นโมเดล” เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน  2563

>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

ซี่รี่ย์ #37 : วันเข้าพรรษา : ทางไทย ทางธรรม
ตอน: 4 วัดหลวง ในขอนแก่น (ตอนที่3)

ต่อเนื่อง ความเดิมจาก ซีรี่ย์ …….ยังอยู่ในสายบุญ ตอนที่แล้วเราได้ทำความรู้จักกับ พระอารามหลวง และ วัดราษฎร์ กันแล้ววันนี้เราเลยจะพาทุกท่านมารู้จักกับ พระอารามหลวงทั้ง 4 แห่ง ภายในจังหวัดขอนแก่น มีความเป็นมาอย่างไร….ตามกันมาเลย

—————————————————————–

พระอารามหลวง-วัดหลวง คือ วัดที่พระมหากษัตริย์ หรือพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้าง หรือ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ หรือ มีผู้สร้างน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นวัดหลวง และวัดที่ราษฎรสร้าง หรือ บูรณปฏิสังขรณ์ และขอพระราชทานให้ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง
ในจังหวัดขอนแก่น มีวัดหลวง จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ วัดธาตุ วัดหนองแวง วัดศรีจันทร์ และวัดป่าแสงอรุณ
ท้าวความ เมื่อครั้งสร้างเมืองขอนแก่น ปี 2335 “ท้าวสัก” ตำแหน่ง “เพี้ยเมืองแพน” อพยพไพร่พล มาตั้งบ้านเรือนขึ้นใหม่ ที่บ้านบึงบอน

ต่อมาใน ปี 2340 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระบรมราชโองการยกฐานะให้เป็น “เมืองขอนแก่น” แต่งตั้งให้ “ท้าวสัก” เป็นเจ้าเมืองขอนแก่นคนแรก มีนามว่า “พระนครศรีบริรักษ์”

เมื่อขึ้นปกครองเมือง จึงได้เริ่มสร้างวัดขึ้น 4 วัด ตามแบบประเพณีโบราณ ดังนี้ วัดเหนือ ปัจจุบัน คือ วัดธาตุ พระอารามหลวง วัดกลาง ปัจจุบัน คือ วัดกลาง วัดใต้ ปัจจุบันคือ วัดหนองแวง พระอารามหลวง และ วัดท่าแขก ปัจจุบัน คือ วัดโพธิ์ โดย 2 ใน 4 วัดแห่งนี้เป็น พระอารามหลวง ที่อยู่ในจังหวัดขอนแก่น

วัดธาตุ พระอารามหลวง : สร้างขึ้นเมื่อ ปี 2332 โดยพระนครศรีบริรักษ์บรมราชภักดี (เพียเมืองแพน) เจ้าเมืองขอนแก่น ณ ขณะนั้น พร้อมกับการตั้งเมืองขอนแก่น และได้สร้างพระธาตุขึ้น เป็นปูชนียสถานที่เคารพสักการะของชาวเมืองขอนแก่น จึงเรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดธาตุ” ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระอารามหลวง เมื่อปี 2521 มีเนื้อที่ 12 ไร่

แต่เดิม วัดธาตุ มีพระเจดีย์หลายองค์ ชำรุดทรุดโทรมพังทลายไปเกือบหมด จนไม่สามารถจะสังเกตได้ว่าองค์ไหนเป็นพระธาตุดั้งเดิม ซึ่งเจ้าเพี้ยเมืองแพนได้สร้างขึ้น ปี 2513 จึงได้ให้นายช่างออกแบบสร้างพระธาตุองค์ใหม่ขึ้นครอบองค์เดิมไว้ ทั้งหมด จึงพบภายในพระธาตุ มี “หลวงพ่อพระลับ” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย วัสดุทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 29 เซนติเมตร สูง 36 เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านเมืองของขอนแก่น

ปัจจุบัน “หลวงพ่อพระลับ” ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ แต่เดิมมีเรื่องเล่าขานกันต่อๆมา ว่า “หลวงพ่อพระลับ” ถูกสร้างขึ้นโดย “พระเจ้าโพธิสาร พระมหาธรรมิกราชาธิราช” ณ นครหลวงพระบาง ต่อมาได้มีกลุ่มของพระยาแสนสุรินทร์ขว้างฟ้า ยึดเมืองเวียงจันทน์ ทำให้เจ้าศรีวิชัย หลบหนีพร้อมนำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ “หลวงพ่อพระลับ” ออกมา จนถึงช่วงของ “ท้าวสัก” ซึ่งมีตำแหน่ง “เพียงเมืองแพน” ในขณะนั้น ได้สร้างวัดธาตุที่มีอุโมงค์ภายใน นำเอาพระพุทธรูปไปเก็บซ่อนไว้อย่างลับที่สุด จึงเรียกว่า “พระลับ” หรือ “หลวงพ่อพระลับ” สืบมา

วัดหนองแวง : ตั้งอยู่ริมบึงแก่นนคร ภายในวัดหนองแวงเมืองเก่าซึ่งเป็นพระอารามหลวง มีพระมหาธาตุแก่นนคร หรือ พระธาตุเก้าชั้นฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 50 เมตร เรือนยอดทรงเจดีย์จำลองแบบจากพระธาตุขามแก่น จัดสร้างขึ้น เนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และ มหามังคลานุสรณ์ 200 ปี เมืองขอนแก่น ความสูงขององค์พระธาตุฯ 80 เมตร มีพระจุลธาตุ 4 องค์ ตั้งอยู่ 4 มุมและมีกำแพงแก้วพญานาค 7 เศียรล้อมรอบ เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี ผสมผสานศิลปะอินโดจีน ซึ่งเป็นลักษณะแบบชาวอีสาน โดยพระธาตุหนองเเวง ทั้ง 9 ชั้น จะมีการจัดเเสดงที่เเตกต่างกันไปดังนี้
– ชั้นที่ 1 เป็นหอประชุมมีพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
– ชั้นที่ 2 เป็นพิพิธภัณฑ์ของชาวอีสานโดยเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในอดีต
– ชั้นที่ 3 เป็นหอปริยัติบานประตู หน้าต่าง เขียนลวดลายเบญจรงค์และภาพแกะสลักนิทาน
– ชั้นที่ 4 เป็นหอปริยัติธรรม ภายในมีพิพิธภัณฑ์ของเก่า ภาพวาดที่บานประตู หน้าต่าง
– ชั้นที่ 5 เป็นหอพิพิธภัณฑ์มีบริขารของหลวงปู่พระครูปลัดบุษบา สุมโน อดีตเจ้าอาวาสวัด
– ชั้นที่ 6 เป็นหอพระอุปัชฌายาจารย์บานประตูหน้าต่างแกะสลักนิทานชาดกเรื่องเวสสันดร
– ชั้นที่ 7 เป็นหอพระอรหันต์สาวกบานประตูหน้าต่างแกะสลักนิทานเรื่องพระเตย์มีใบ้
– ชั้นที่ 8 เป็นหอพระธรรมเป็นที่รวบรวมพระธรรม คัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา พระไตรปิฏก ฯลฯ
– ชั้นที่ 9 เป็นหอพระพุทธตรงกลางมีบุษบก เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า

ไฮไลท์ คือ “วิว” ของแต่ละชั้น ที่สามารถมองเห็นวิวเมืองที่แตกต่างกันออกไป เมื่อขึ้นไปบนชั้นที่สูงขึ้นจะยิ่งสามารถมองเห็นวิวเมืองได้มากขึ้น….. พระธาตุเก้าชั้น แห่งนี้ยังเป็นที่รู้จักของเหล่าวัยรุ่นว่า เป็น หอไอเฟล ของจังหวัดขอนแก่น เพราะ ในช่วงตอนกลางคืน จะมีการเปิดไฟประดับและหากมองมาจากที่ไกลๆ จะเห็นเป็นเหมือนหอไอเฟล…..เรียกได้ว่า ไม่ว่า ใกล้หรือไกล ก็จะได้ชมความสวยงามที่แตกต่างกันออกไป

วัดศรีจันทร์: สร้างขึ้นโดยท่านญาคูหลักคำ (ท่านเจ้าอาวาส-รูปแรก) เดิมจำพรรษาอยู่ที่ วัดศรีนวล ทำการ รวบรวมศรัทธาประชาชนมาช่วยกันก่อสร้างวัด และเนื่องด้วยที่แห่งนี้มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นหนาแน่น สภาพแวดล้อมเป็นสถานที่เงียบสงบ มีสัตว์อาศัยชุกชุม เวลากลางคืน เมื่อถึงวันพระจันทร์เต็มดวง แสงสว่างของดวงจันทร์ส่องสว่างกระทบต้นไม้และใบไม้เกิดประกาย ดุจประหนึ่งว่ารัศมีแห่งพระจันทร์เปล่งลงมา ท่านจึงถือ นิมิตหมายตรงนี้ ว่าวัดนี้คงจะเจริญรุ่งเรือง และเป็นสิริมงคลแก่ผู้อาศัยเป็นศักดิ์ศรีแก่บ้านเมืองในภายภาคหน้า จึงตั้งชื่อว่า วัดศรีจันทร์ อีกทั้งท่านญาคูหลักคำ เคยจำพรรษาอยู่ที่ วัดศรีนวล เมื่อมาสร้างวัดใหม่จึงตั้งชื่อให้ใกล้เคียงกับวัดศรีนวล ว่า “วัดศรีจันทร์” โดยวัดศรีจันทร์ได้รับการพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งปี 2507 ได้รับการคัดเลือกให้เป็น วัดพัฒนาตัวอย่าง จากทางราชการ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2468 ต่อมา เอกสารประกาศพระราชทานวิสุงคามสีมาได้สูญหาย จึงได้ขอพระราชทานวิสุงคามใหม่อีกครั้ง เมื่อ ปี 2546 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ปีเดียวกัน

วัดป่าแสงอรุณ: ตั้งวัดเมื่อปี 2473 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ปี 2528 เดิมเรียกว่า “วัดป่าพระ “ เพราะพระอาจารย์ผู้นำสร้าง ย้ายมาจากดอนปู่ตา (วัดสมศรี) ทั้งได้รับการอุปถัมภ์จากชาวบ้านพระคือ มาก่อน ได้เรียกชื่อวัดครั้งแรกว่า “วัดป่าอรุโณ” ต่อมาท่านเจ้าคุณพระวินัยสุนทรเมธี (พระราชสุเมธี) วัดศรีจันทร์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ธรรมยุต) ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดป่าแสงอรุณ” บริเวณวัดมีลักษณะเป็นเนินสูง จากด้านทิศเหนือราบลุ่มลงไปทางด้านทิศใต้และพื้นที่บางส่วนก็เป็นหลุม เป็นบ่อ มีไผ่ป่าและหญ้าคาขึ้นหนาแน่น อาคารเสนาสนะที่สำคัญ คือ “สิมอีสาน” เป็นสิมที่มีสถาปัตยกรรมแบบอีสานตอนบน ผสมผสาน กับสถาปัตยกรรมส่วนกลาง สิม มีความกว้าง 15 เมตร ความยาว 35 เมตร สูงจากพื้นดินเดิม 62 เมตร มีเสา 52 ต้น หน้าต่าง 14 บาน และประตู 3 บาน หลังคามุงด้วยกระเบื้องเกล็ดปลาแบบโบราณ และมีหอระฆัง 4 หอ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ภายในสิมประดิษฐานพระประธาน คือ พระพุทธรังสิโยภาสสุขพิพัฒน์ เป็นพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร (ปางมารวิชัย) องค์พระมีขนาดหน้าตักกว้าง 69 นิ้ว สูงถึง 2 เมตร

*************************************************************

มาถึงจุดแวะ…. อย่าลืม ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าโอทอป ขอนแก่น ที่มีสินค้าให้เลือกมากมายหลากหลาย

วันนี้ ขอพาทุกท่านไปรู้จักกับ เต่ากะลา จากอำเภอมัญจาคีรี “หมู่บ้านเต่า” ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และ เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน มีการนำวัตถุ ตามท้องถิ่น มาแปรรูปเป็นของใช้ของที่ระลึก เพื่อหารายได้เข้ามาสู่ชุมชน นอกจากนี้ เต่ากะลา ยังเป็นกระปุกออมสิน ใช้ฝึกฝนการออมได้อีกด้วย
และ ผลิตภัณฑ์ สำหรับดูแลผิวของสาวๆ คือ สบู่รังไหมขมิ้นน้ำผึ้ง จากการทำใช้เองและคนรอบข้างเริ่มทักว่า ผิวดีขึ้นจึงชักชวนกันมาตั้งกลุ่มทำผลิตภัณฑ์ สบู่รังไหมขมิ้นน้ำผึ้ง มีความสุข เมื่อเห็น สาวๆ มีผิวพรรณผ่องใส พร้อมกับสุขภาพผิวที่แข็งแรง

—————————————————————–

ติดตาม “ชีวิตและสินค้า –Life & Products“ กันได้….ในตอนต่อไป
….พบกัน เสาร์ หน้า ว่าเราจะพาไปรู้จัก จังหวัดขอนแก่น ในแง่มุม ไหน อีก นะ..นะ..

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *