“อำเภอแวงใหญ่- – มหาวิทยาลัยปูนา และข้าวแต๋”

คอลัมภ์ประจำ : พบกันทุกวันเสาร์

(เริ่ม เสาร์ที่ 08 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป)

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาสินค้า OTOP ขอนแก่น บริหารงาน โดย บริษัท ขอนแก่น โอทอป อินเตอร์เทรดเดอร์ จำกัด มีการปรับปรุงศูนย์ฯ ภายใต้แนวคิดของ““ขอนแก่นโมเดล” คือ ภาครัฐ ร่วมกับ ภาคเอกชน เพื่อการบริหารจัดการ ที่คล่องตัว และคงไว้ซึ่งหลักการ “ธรรมาภิบาล”อย่างมั่นคง อันจะส่งผลดี ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บังเกิดความยั่งยืน ต่อบ้านเมือง สืบไป

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาสินค้า OTOP ขอนแก่น เปิดทำการ โฉมใหม่ หลังจากที่มีการปรับปรุง ด้วย “ขอนแก่นโมเดล” เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน  2563

>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

ซี่รี่ย์ #19 : อำเภอแวงใหญ่- -มหาวิทยาลัยปูนา และข้าวแต๋น

( อำเภอลำดับที่ 18 ใน 26 อำเภอ ของจังหวัดขอนแก่น )

อำเภอแวงใหญ่ ชื่อนี้ มีที่มา “แวงใหญ่” เป็นการบอกเล่าต่อๆ กันมาว่า บริเวณที่ตั้งหมู่บ้าน แวงใหญ่ ในปัจจุบันมีหนองน้ำขนาดใหญ่ ชื่อ “หนองแวง” มีประชากรกลุ่มแรกอพยพมาจากจังหวัดนครปฐม ชัยภูมิ อุดรธานี ชลบุรี และนครราชสีมา
ครอบครัวไทยที่อพยพเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านแวงใหญ่ เป็นประชาชนที่อพยพ หนีสงคราม เมื่อปี 2321 สมัยสงครามพระเจ้ากรุงธนบุรี ให้แม่ทัพไปตีกรุงเวียงจันทร์ ยกทัพผ่านมาเห็นพื้นที่บริเวณหนองแวง ซึ่งเป็นทำเลที่เหมาะสม มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ มีป่าไม้สัตว์ป่าชุกชุม เมื่อเสร็จศึกแล้ว บางส่วนมีความพอใจจึงตั้งเป็นที่อยู่อาศัยทำมาหากิน และเรียกชื่อว่า “บ้านแวงใหญ่” บ้านแวงใหญ่นี้มีผู้สันนิฐานว่า
สันนิฐานว่า เดิมเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชนชาวมอญ สมัยโบราณ มีการขุดพบพัทธสีมาเก่าแก่มาก อยู่บริเวณหนองโบสถ์ และพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ พบเศษอิฐ เศษกระเบื้องดินเผา สมัยโบราณเป็นจำนวนมากที่บ้านดอนบาลไทในปัจจุบัน
อำเภอแวงใหญ่ ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2520 ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2532
อำเภอแวงใหญ่ ห่างจากจังหวัดขอนแก่น 72 กิโลเมตร มีพื้นที่ 189.069 ตารางกิโลเมตร มีประชากรอยู่ราว 29,562 คน

——————————————————————-
วันนี้ จะขอ พาทุกท่านไปรู้จักกับ อำเภอแวงใหญ่ กับเเหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

มหาวิทยาลัยปูนา ตั้งอยู่ภายในศูนย์ปฎิบัติธรรม มหาวิทยาลัยปูนา สาขาวัดสระเกษ อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น มีประวัติที่น่าสนใจ สร้างเมื่อปี 2535 บนพื้นที่ ที่เคยเป็นป่าช้า เนื้อที่ 38 ไร่ ชื่อนี้ มีที่มา เช่นกัน ด้วยว่าบริเวณนั้น มี “ปูนา” มาก พระครูสารธรรมาภรณ์ (หลวงปู่เฉย ญาณธโร) เจ้าอาวาสวัดสระเกษ เน้นแนวคิดในการอนุรักษ์ ป่าและสัตว์ท้องถิ่น ปูนับล้านๆ ตัว ในบริเวณดังกล่าว จึงบ้านสร้างเป็นรูปตัวปู สามารถเข้าไปอาศัยได้ เข้าไปปักกลด เหมาะแก่ผู้ที่จะไปปฏิบัติธรรมเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจแก่พุทธศาสนิกชน เป็นศูนย์ปฎิบัติธรรมของอำเภอ และที่สำคัญศูนย์ปฏิบัติธรรมมหาวิทยาลัยปูนา ได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนในการสร้าง 1 เจดีย์ 1 อำเภอ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ คือ พระธาตุเจดีย์ศรีแวงใหญ่ แหล่งท่องเทียวที่น่าสนใจ ภายในศูนย์ปฎิบัติธรรม มหาวิทยาลัยปูนา ได้แก่ รูปปั้นสัตว์ 12 ราศี พระประจำวันเกิด หอปูนา บ่อปลา บ่อจระเข้ บ่อเต่า สัตว์ประเภทอื่นๆ เช่น ไก่ป่า

ชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี บ้านโนนข่า เดิมชาวโนนข่า ได้อาศัยอยู่ บ้านโนนกอกน้อย ก่อนจะอพยพ มาที่บ้านโนนข่าเนื่องจากเหตุเพลิงไหม้ โดยเริ่มแรกมีอพยพกันมา 7 ครอบครัว ที่บ้านโนนข่า ดอนปู่ตา พระธาตุใหญ่ โดยได้ดำรงชีพยึดตามหลักเศรฐกิจพอเพียง ทำไร่นา เพื่อเลี้ยงชีพ โดยชาวบ้านมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน คือ หลวงปู่สอน และวัดป่าถ้ำพระบาทภูกระเเต โดยวัดป่าถ้ำภูกระเเตนั้น มีจุดไฮไลน์ คือ ถ้ำน้ำลอด มีลักษณะเป็นแอ่งน้ำ มีถ้ำอยู่ภายใน และรอยพระพุทธบาทที่อยู่ภายในวัดป่าแห่งนี้ หลังจากเที่ยวชมวัดป่าแล้ว อาหารขึ้นชื่อของ ชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี บ้านโนนข่า คือ อ่อมไก่บ้าน เเละความพิเศษอยู่ตรงการนำฟักใส่ลงภายในอ่อม เนื่องจากอ่อมทั่วไปจะไม่มีการใส่ฟัก และขนมทานเล่น ที่ขึ้นชื่อ- – ข้าวต้มมัด ใช้กล้วยสุกพอดี รสชาติหวาน นิ่มกำลังพอดี ก่อนกลับอย่าลืมแวะเลือกซื้อสินค้าฝีมือชุมชน ตะกร้ายางพาราถัก ผ้าฝ้าย ผ้าขาวม้า กลับไปเป็นของฝาก กันด้วยนะ …

อีกหนึ่งชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี ที่เราจะพาทุกท่านไปรู้จักกันวันนี้คือ ชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี บ้านถลุงเหล็ก เดิมมีชื่อว่า บ้านโนนหินแห่ ก่อตั้งประมาณปี 2467 โดยอพยพมาจากบ้านข่อย จังหวัดร้อยเอ็ด พื้นดินเป็นที่ดินดอนปนหิน คือ ถ้าขุดลึกลงประมาณ 50 ซม. จะพบหินขนาดใหญ่ คนทั่วไปจึงเรียกว่าโนนหิน แห่ ที่ชาวบ้านเรียกเป็นครั้งแรก เมื่อประมาณปี 2475-2480 ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่มาตรวจเยี่ยมราษฎรที่บ้านโนนหินแห่ และให้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน เป็น “บ้านถลุงเหล็ก” เพราะ คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเสริมจากการทำนา คือ การ ชุบมีด เช่น มีด และคำเคียว ฤดูแล้งจะตีมีดและ เข่นมีด ใกล้ ฤดูทำนาจะหล่อหมากสบไถ หลังดำนาเสร็จจะทำเคียวสำหรับเกี่ยวข้าว จึงเกิดเป็นชื่อ “บ้านถลุงเหล็ก” โดยผลิตภัณฑ์ โอทอป ของ “บ้านถลุงเหล็ก” คือ เสื่อพับ ผ้าไหม จักสานจากไม้ และข้าวฮาง ข้าวกล้อง ข้าวแทนคุณ – ข้าวออร์แกนิก ที่ดีต่อสุขภาพ

——————————————————————-

สินค้า จากอำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น ที่วางจำหน่ายภายใน ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าโอทอป ขอนแก่น ดูซิว่า มีอะไร กันบ้าง……….

สินค้าขึ้นชื่อของอำเภอแวงใหญ่ คือ “ข้าวแต๋น” ขอเล่าเรื่อง เส้นทางที่มา จนมาถึงวันนี้…. เล่าคราวใด เป็นน้ำตารื้น…
ประธานกลุ่ม-คุณสายทิพย์ ลามา วัย 54 ปี เคยทำงานโรงงานทอพรมเช็ดเท้า ในกรุงเทพ นาน 10 ปี และมีโอกาสไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นอีก 7 ปี เธอต้องจากประเทศไทยไปทำงานเพื่อครอบครัว จากลูกชาย วัยเพียง 1 ขวบ 8 เดือน ด้วยความรักและคิดถึงลูก เมื่อกลับเมืองไทย กลับบ้านเกิด จึงมองหาอาชีพ ความที่เป็นลูกชาวนา จึงมีความผูกพันกับข้าว และท้องทุ่งนา
มีแนวคิด ว่า ทำยังไง จึงจะเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวได้ สามีเป็นชาวลำปาง จึงช่วยกันวางแนว คิดถึง “ข้าวแต๋น” สินค้ายอดนิยมของภาคเหนือ
เริ่มลงมือทำในปี 2541 เน้นการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ อย่าง น้ำแตงโม และกระพังโหม หรือหญ้าตูดหมา– ในภาษาอีสาน เพื่อทำให้สีสวย และมีความกรอบของข้าวแต๋น ตั้งชื่อแบรนด์ ด้วยชื่อตัวเอง นี่แหละ โชคดีที่สุดแล้ว ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น เพราะมีหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุน
ปัจจุบัน กลุ่มข้าวแต๋นสายทิพย์ หรือ ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ้านโคกสว่าง มีสมาชิก 75 คน เพื่อผลิตข้าวแต๋นสมุนไพรสูตรอร่อยให้ทุกท่านได้ทาน

“ข้าวแต๋นสายทิพย์” มีความเด่น ผลิตสด ใหม่ และรสชาติดี มีให้เลือกมากมาย ถูกใจทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ จึงมีฉายา ว่า “ข้าวแต๋นพันหน้า” เลยจัดลำดับความชอบ ว่าคุณจะชอบ เลือกหยิบ รสชาติ ไหนดี…..

ข้าวแต๋นออริจินอล : หวานด้วยรสชาติดั้งเดิม ของข้าวแต๋น ตัวข้าวเเต๋นมีความกรอบ และหอมน้ำราดที่สดใหม่

ข้าวแต๋นรสทุเรียน : เอาใจคนรักทุเรียน กับข้าวแต๋นรสทุเรียนที่มีน้ำราดหอมมัน และยังมีเนื้อทุเรียนทอดโรยไว้บนหน้า

ข้าวแต๋นรสต้มยำ : รสชาติจัดจ้าน หอมสมุนไพรจากเครื่องต้มยำ เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพไม่อยากทานหวานมากนัก

ข้าวแต๋นรสช็อกโกแลต : เป็นรสชาติที่เด็กๆ ชอบนัก มีความหวานละมุ่นจากช็อกโกเเลต ทานเพลิน เรียกได้ว่าเอาขนมผู้ใหญ่ที่สามารถเข้าถึงเด็กรุ่นใหม่ได้ดีทีเดียว

ข้าวแต๋นรสไข่เค็ม : รสนี้กำลังมาแรง มีความเค็มเล็กน้อยตัดกับตัวข้าวแต๋นกรอบๆ หอมๆ มันๆ เข้ากันที่สุด

—————————————————————–

ติดตาม “ชีวิตและสินค้า –Life & Products“ กันได้….ในตอนต่อไป
….พบกัน เสาร์ หน้า ว่าเราจะพาไปรู้จัก จังหวัดขอนแก่น ในแง่มุม ไหน อีก นะ..นะ..

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *