ดินดำ น้ำชุ่ม ที่ “ซำสูง”

คอลัมภ์ประจำ : พบกันทุกวันเสาร์

(เริ่ม เสาร์ที่ 08 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป)

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาสินค้า OTOP ขอนแก่น บริหารงาน โดย บริษัท ขอนแก่น โอทอป อินเตอร์เทรดเดอร์ จำกัด มีการปรับปรุงศูนย์ฯ ภายใต้แนวคิดของ““ขอนแก่นโมเดล” คือ ภาครัฐ ร่วมกับ ภาคเอกชน เพื่อการบริหารจัดการ ที่คล่องตัว และคงไว้ซึ่งหลักการ “ธรรมาภิบาล”อย่างมั่นคง อันจะส่งผลดี ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บังเกิดความยั่งยืน ต่อบ้านเมือง สืบไป

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาสินค้า OTOP ขอนแก่น เปิดทำการ โฉมใหม่ หลังจากที่มีการปรับปรุง ด้วย “ขอนแก่นโมเดล” เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน  2563

>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

ซี่รี่ย์ #13 : ดินดำ น้ำชุ่ม ที่ “ซำสูง”

( อำเภอลำดับที่ 12 ใน 26 อำเภอ ของจังหวัดขอนแก่น )

พบกันทุกวันเสาร์ : เป็นเรื่องเล่า เรื่องราว ของ “ชีวิตและสินค้า –Life & Products“ ชีวิตของผู้คน สินค้า และภูมิปัญญา ในพื้นที่ 26 อำเภอ ในจังหวัดขอนแก่น

อำเภอซำสูง เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอกระนวน ต่อมามีการแบ่งพื้นที่การปกครอง จัดตั้งเป็น
กิ่งอำเภอซำสูง ตามประกาศ กระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2537 มีพระราชกฤษฎีกา ยกฐานะขึ้นเป็น อำเภอซำสูง ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 โดยมีผล ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน ปีเดียวกัน

คำว่า “ซำสูง” คำนี้ มีที่มารากคำตาม ภาษาอีสาน หรือภาษาลาว คำว่า “ซำ” หมายถึง บริเวณ ที่ลุ่มต่ำที่มีน้ำไหลมารวม เป็นแอ่งขัง หรือเป็นที่ชุ่มชื่น มีน้ำใต้ดินมาก ดังนั้น ซำสูง จึงหมายถึงอำเภอที่ตั้งอยู่บริเวณที่ชุ่มชื้นมีน้ำใต้ดิน จากป่าดงซำ ซึ่งเป็นป่าดิบแล้งที่อุดมสมบูรณ์ ผืนป่าดงซำผืนนี้ มีพื้นที่ครอบคลุม และเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เป็นรอยต่อของอีกสอง อำเภอ คืออำเภอน้ำพอง และ อำเภอกระนวน

อำเภอซำสูง อยู่ห่างจากอำเภอเมือง ราว 45 กิโลเมตร มีพื้นที่ 116.7 ตารางกิโลเมตร
ประชากร 23,508 คน

เรามาทำความรู้จัก อำเภอซำสูง กันเถอะ……

——————————————————————————————————————————————————

สถานที่แรก คือ “หลวงปู่พระเจ้าใหญ่” เป็นพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ปาง “สะดุ้งมาร” สันนิฐานว่า ก่อสร้างในสมัยทวาราวดี ประดิษฐานที่ “วัดโพธิ์ชัย”เป็นที่เคารพสักการะของ ประชาชนชาวพุทธ มีการเล่าขานกันว่า เป็นพระคู่บ้านคู่เมืององค์แรกของ จังหวัดขอนแก่น สร้างขึ้นพร้อมยุคพระธาตุพนม เมื่อครั้งสร้างพระธาตุพนม

ครั้นเมื่อเดินทางมาถึงจุดนี้ จุดที่ตั้ง-วัดโพธิ์ชัย ก็ได้รับทราบข่าวว่า พระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว จึงนำพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่ง ก่อฐานเป็นศิลาแลงอัญเชิญขึ้นตั้งประดิษฐานไว้บนแท่นหินศิลาแลง แล้วก่อหินปูนเปลือกหอยแบบโบราณโอบไว้ด้านนอก

กาลเวลาผ่านไปหลายปี มีการบูรณะก่อฉาบทับพระพุทธรูปองค์นี้อีกหลายครั้ง จนเนื้อด้านหลังหลวงปู่ใหญ่ กะเทาะพังลงมา ชั้นปูนเปลือกหอยมีความหนาหลายชั้นมาก แต่ละชั้นมีรักและทองปิดทุกชั้น ไล่เรียงกันออกมาแต่ละชั้น บ่งบอกถึงอายุการสร้างที่ผ่านกาลเวลามานับเป็นพันปี เมื่อถึงในยุคปัจจุบันนี้ สีของหลวงปู่ใหญ่ก็ยังคงใช้สีทาเคลือบออกเป็นแนวทาง ที่บ่งบอกว่าท่านผู้ที่สร้างเป็นสตรี ปากจะมีสีแดงทาไว้แบบนี้มาแต่โบราณ

ประวัติการก่อตั้งชุมชน ที่ยาวนาน กว่า 140 ปี ผู้คนกับวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา รุ่น ต่อรุ่น จึงเป็นเสน่ห์ ชวนหลงไหล ให้ไปสัมผัส รู้จักกัน คือ วัฒนธรรม “ฮีต 12 คลอง 14” เป็นแรงศรัทธา ความเชื่อ ตามเดือนในรอบปี ที่จะมีประเพณีแตกต่างกันออกไป เช่น เดือน มกราคม จะมีงานบุญเข้ากรรม-เป็นประเพณี การฝึกฝนจิตใจที่เข้มแข็ง ของพระภิกษุ สัมผัสวิถีชุมชน ชีวิตของพวกเขา ลุ่มลึก เรียบง่าย สงบ สบายใจ จึงมีหน่วยงาน เข้าไปส่งเสริมการท่องเที่ยว ชุมชนแห่งนี้ เรียกขานกันว่า “นวัตวิถีบ้านห้วยเตย”

“ผักซำสูง” ลักษณะ ความอุดมของ ดินและแหล่งน้ำ ชุมชน จึงมีการรวมกลุ่มกัน ปลูกผัก สร้างอาชีพ เมื่อปี 2550 ผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ทำให้พวกเขา มีพัฒนาการ และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ดินทำกิน ได้รับการอนุญาต เพื่อยกร่องผัก มีกระบวนการ คัด จัดสินค้า และวางขายในห้างสรรพสินค้าด้วยความร่วมมือ ร่วมใจ มีเป้าหมายในการทำกิน จากการปลูกผักปลอดภัย ไว้กินเอง เพื่อลดค่าใช้จ่าย มีเหลือปันกัน ในชุมชน และนำออกไปจำหน่าย ให้มีรายได้ และจัดตั้งเป็น “สหกรณ์กลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษอำเภอซำสูง จำกัด” ปัจจุบัน ผักซำสูง” ขยายพื้นที่ปลูกผัก เป็น กว่า 500 ไร่ มีแบรนด์ เป็นของตัวเอง และวางจำหน่าย ใน “ท้อป ซุปเปอร์ มาร์เก็ต” แวะไปอุดหนุน กันได้

——————————————————————————————————————————————————

สินค้า จากอำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น ที่วางจำหน่ายภายในศูนย์ ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าโอทอป ขอนแก่น อาทิ

ปลาร้า และแจ่วบองผัด “แม่ประกาศ”

ชีวิต ต้องต่อสู้ จึงจะมีวันนี้ ไม่ต่างจาก “เจ้าสัว” ที่หอบเสื่อผืน หมอนใบ จากตำนานคนจีนโพ้นทะเล พวกเขาจึงมี วันนี้ ได้

คุณประกาศ สีดาน้อย เจ้าของตำนาน ยี่ห้อ “แม่ประกาศ” เป็นชีวิตต้องสู้ อีกเล่ม ที่น่าชื่นชม จากเมื่อปี 2530 หรือ กว่า 34 ปี ก่อน เธอเป็นแม่ค้าขายปลา ในตลาด มีปลาร้า-อาหาร พื้นบ้านของคนอีสาน ที่ต้องมีติดไว้ในทุกบ้าน ตักขาย ถุงละ 1 บาท ขายดี เพราะรสชาติถูกปาก จนเกิดไอเดียว่า น่าจะใส่ขวดขาย ลูกค้าสะดวกใช้ เก็บง่าย ไม่ต้องกังวลใจว่า ถุงปลาร้าจะแตก

ความที่เป็นคนช่างพูด ขยันทำกิน การพัฒนาสินค้าของเธอ จึงเป็นปลาร้า บรรจุขวด ได้สำเร็จ ในปี 2542 ยอดขายก็ขยับขึ้นตาม และขยายสร้างโรงงานผลิต ผลิตส่งขายทั่วประเทศ ด้วยแบรนด์ “แม่ประกาศ” ในปี 2558

วันนี้ มีคนรุ่นสอง ลูกชายและสะใภ้ มารับงานต่อ บริหารงานต่อยอด เข้าสู่โหมดการรับจ้างผลิต ให้กับ อีกหลายยี่ห้อ

“น้ำปลาร้าแม่ประกาศ” มีกระบวนการผลิต สะอาดปราศจากสิ่งเจือปน ใช้เวลาหมักอย่างน้อย 6 เดือน ผ่านการต้ม 15 ชม. ได้รับมาตรฐาน CMP HACCP สากล และมาตรฐาน อย. ผ่านการตรวจคุณภาพจากห้องปฏิบัติการกลาง ประเทศไทย

“เเจ๋วบองผัดแม่ประกาศ” แจ่ว เป็นอาหารยอดนิยม ของชาวอีสาน เช่นเดียวกับ “น้ำพริก” ของคนภาคกลาง

แจ่วบอง เจ้านี้ เป็นพัฒนา อีกขั้น ของปลาร้า ที่นำไปปรุงรส คลุกเคล้าด้วยสมุนไพรนานาชนิด รสชาติเผ็ดเข้มข้น ถูกปาก “คอแจ่ว” ยิ่งนัก

——————————————————————————

ติดตาม “ชีวิตและสินค้า –Life & Products“ กันได้….ในตอนต่อไป
….พบกัน เสาร์ หน้า ว่าเราจะพาไปรู้จัก จังหวัดขอนแก่น ในแง่มุม ไหน อีก นะ..นะ..

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *