“หนองเรือ : เรือพาย และ หนองน้ำ”

คอลัมภ์ประจำ : พบกันทุกวันเสาร์

(เริ่ม เสาร์ที่ 08 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป)

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาสินค้า OTOP ขอนแก่น บริหารงาน โดย บริษัท ขอนแก่น โอทอป อินเตอร์เทรดเดอร์ จำกัด มีการปรับปรุงศูนย์ฯ ภายใต้แนวคิดของ““ขอนแก่นโมเดล” คือ ภาครัฐ ร่วมกับ ภาคเอกชน เพื่อการบริหารจัดการ ที่คล่องตัว และคงไว้ซึ่งหลักการ “ธรรมาภิบาล”อย่างมั่นคง อันจะส่งผลดี ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บังเกิดความยั่งยืน ต่อบ้านเมือง สืบไป

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาสินค้า OTOP ขอนแก่น เปิดทำการ โฉมใหม่ หลังจากที่มีการปรับปรุง ด้วย “ขอนแก่นโมเดล” เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน  2563

>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

ซี่รี่ย์ #16 : หนองเรือ : เรือพาย และ หนองน้ำ

( อำเภอลำดับที่ 15 ใน 26 อำเภอ ของจังหวัดขอนแก่น )

อำเภอหนองเรือ ชื่อนี้ มีที่มา ตามข้อสันนิษฐานไว้เป็น 2 แนวทาง คือ หนึ่ง: มีหนองน้ำใหญ่ลักษณะคล้ายเรือ อยู่ติดกับหมู่บ้าน สอง : เป็นแหล่งน้ำ ที่มีคนมาทำการชักลากไม้มาขุดเจาะเป็น เรือพายมาก กว่าท้องถิ่นใดๆ จากตำบลหนองเรือ ได้รับการยกฐานะเป็น กิ่งอำเภอ เมื่อปี 2502 โดยเป็นการรวมหมู่บ้าน และตำบลต่างๆ จากอำเภอเมืองขอนแก่น และตำบลในเขตอำเภอภูเวียง เข้าด้วยกันเป็น 7 ตำบล และ ต่อมายกฐานะขึ้นเป็น อำเภอหนองเรือ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2506

อำเภอหนองเรือ อยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดขอนแก่น ราว 45 กิโลเมตร พื้นที่ 673 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรอาศัยอยู่ราว 93,090 คน

ขอพาทุกท่าน ไปรู้จักสถานที่ อำเภอหนองเรือ กันให้มากยิ่งขึ้น……..

วัดป่าภูเม็งทอง สถานที่เป็นแหล่งรวมใจธรรม มีประวัติเล่าขานกันมาว่า เดิมที ”ภูเม็งทอง” เป็นเทือกเขา ติดต่อกับพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ และเมื่อปี 2517 “หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต” ธุดงค์ มาปักกลด ณ บริเวณนี้ และต่อมา “พระอาจารย์หนู” จึงได้มาก่อตั้งวัด ก่อสร้างพระพุทธรูป ในปี 2524 เเล้วเสร็จปี 2527 (ใช้เวลาในการหล่อพระ นาน ถึง 3 ปี) วัดนี้เหมาะแก่การมาปฎิบัติธรรม เพราะมีภูมิศาสตร์ สถานที่ตั้งรายล้อมด้วยธรรมชาติ- อยู่บนภูเม็งทอง ทางขึ้น ต้องเดินเท้าค่อนข้างลาดชันเล็กน้อย เมื่อถึงวัด หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เพราะวิว เบื้องล่าง สามารถกวาดสายตา ชมวิว ได้ 360 องศา

ศูนย์ฯ ธรรมสุวรรณา มีความหมายว่า “แสงทองแห่งธรรม” เป็นศูนย์วิปัสสนาฯ ที่เกิดขึ้นจาก ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า เป็นชาวอินเดีย เกิดที่ประเทศเมียนมาร์ ในครอบครัวนักธุรกิจ ต่อมาเมื่ออายุ 31 ปี ป่วยเป็นโรคไมเกรน และเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในหลายประเทศ แต่ไม่หาย จึงทดลองฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เป็นครั้งแรกกับ อาจารย์อูบา ขิ่น ซึ่งเป็นวิปัสสนาจารย์ชาวเมียนมาร์
ผลแห่งการกระทำนั้น ทำให้อาการปวดศีรษะหายหายขาด โกเอ็นก้า จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา และปวารณาตัวเข้าปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและจริงจัง จนมีชื่อเสียงและมีสหายบุญ ผู้สนับสนุนแนวทางดังกล่าว พบว่ามีผู้มาขอเข้าปฏิบัติกันมาก อาจารย์โกเอ็นก้า มั่นใจในแนวทางนี้ จึงออกเดินสาย-เดินทางไปเผยแผ่อบรมการปฏิบัติวิปัสสนา ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก

โกเอ็นก้า เดินทางมาเมืองไทย เมื่อปี 2544 เปิดบรรยายธรรมเรื่อง “วิปัสสนาในพระไตรปิฎก” ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งนั้น “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์” เสด็จมาเป็นประธานรับฟังการบรรยายธรรมด้วย
ปัจจุบัน มีศูนย์วิปัสสนาตามแนวโกเอ็นก้า จำนวน 80 แห่ง ใน 21 ประเทศทั่วโลก และ ในประเทศไทยมีศูนย์วิปัสสนาตามแนวทางโคเอ็นก้า รวม 5 ศูนย์ ซึ่ง 1 ใน 5 คือ ศูนย์วิปัสสนาธรรมสุวรรณา ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น มีบนพื้นที่กว่า 80 ไร่ บริเวณภายในศูนย์ฯ ร่มรื่นจากป่าไม้ และล้อมรอบด้วยไร่นา เหมาะแก่การปฎิบัติธรรม สงบจิตใจ อีกแห่งของชาวขอนแก่น

หนองแซง เป็นหนองน้ำสาธารณ เดิมมีสภาพเป็นป่ารก มีวัชพืชขึ้นเป็นจำนวนมาก สภาพพื้นที่ของสระหนองแซงมีเนื้อที่ประมาณ 125 ไร่ อำเภอหนองเรือ จึงร่วมกับองค์การบริหาร ส่วนตำบลหนองเรือ ส่วนราชการ และภาคเอกชน โรงงานน้ำตาลมิตรผลภูเวียง ร่วมกันพัฒนา “หนองแซง” ให้มีความสะอาด พัฒนาเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และเป็นแหล่งท่องเที่ยว ของอำเภอหนองเรือ เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ คุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยประชาชนในตำบลหนองเรือ ร่วมในการดูแลรักษาหนองแซง ให้สะอาดสร้างความเข้มแข็งของ ท้องถิ่นในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ จนทำให้คุณภาพชีวิตของชุมชนดีขึ้น จนปัจจุบันนี้หนองแซง เป็นแหล่งน้ำที่สะอาด และยังเป็นที่พักผ่อนหยอนใจของชาวอำเภอหนองเรืออีกแห่งหนึ่ง

“มีกินฟาร์ม” เริ่มจากการที่ คุณ ปู-จงรัก จารุพันธุ์งาม มีความฝันในสมัยเด็ก จากหนังสือแบบเรียนภาษาไทย มีตัวละครเอกอย่าง มานี- มานะ- ปิติ และชูใจ พวกเขาวิ่งเล่นไปกับธรรมชาติ จึงอยากจะทำตามความฝัน และตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านเกิด หลังเรียนจบระดับอุดมศึกษาจากกรุงเทพมหานคร ด้วยการเลือกที่จะ ใช้ชีวิตธรรมดาๆ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เธอริเริ่มที่จะพัฒนาที่ดิน 4 ไร่ กับ 4 ปี สร้างบรรยากาศ ให้ เป็น Cafe and restaurant บ้านสวนที่มีอาหารบ้านๆ มีที่มา มีภูมิปัญญา ให้เล่าสู่กันฟัง และมี Home Stay สไลต์ Farm Stay นอน-เอนก มีกิจกรรม Workshop ตามช่วงเวลา ตามฤดูกาล เช่น เกี่ยวข้าว ดำนา ทำขนมจากวัตถุดิบในสวน เป็นการท่องเที่ยว เชิงอนุรักษ์ เกาะกระแส คนย้อนยุค ถวิลหา ทุ่งนา และหนองบึง

กลุ่มจักสานกระติบข้าวไผ่ตะวัน ตำบลยางคำ เป็นอีกกลุ่มที่น่าส่งเสริม และอุดหนุน เพื่อช่วยดำรงไว้ ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน สินค้าโอทอป ระดับ 4 ดาว
รวมกลุ่ม เริ่มก่อตั้ง เมื่อปี 2541 ผู้นำกลุ่ม คุณอ่อนสา หมื่นแก้ว เพื่อทำผลิตภัณฑ์จักสานกระติบข้าวเหนียวด้วยมือ (หัตถกรรม-ทำด้วยมือ) จากภูมิปัญญาดั้งเดิม และมีการพัฒนารูปแบบให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น อาทิ กระติบเกี่ยว, กระติบของฝาก, กระติบปิกนิก, กล่องข้าว และสินค้าอื่นๆ ภายใต้แบรนด์ชื่อกลุ่ม “ไผ่ตะวัน” ด้วยจุดเด่น คือ การมีรูปทรงและลวดลายที่หลากหลาย มีความประณีตสวยงาม และใช้สีธรรมชาติจากเปลือกไม้ที่หาได้ในชุมชน อย่าง ไม้ไผ่สีสุกหรือไผ่สีทอง รวมทั้งมีการออกแบบลวดลายใหม่อยู่เสมอ พร้อมทั้ง การสานที่แน่นหนา ทำให้กล่องข้าวและกระติบข้าว สามารถเก็บอุณหภูมิของข้าวเหนียวได้ดี

—————————————————————–

กลุ่ม “เฮือนฝ้ายงาม” จัดตั้งกลุ่ม เมื่อปี 2542 จากความต้องการเดียวกันของสมาชิก ในหมู่บ้าน ชุมชนโนนสะอาด คือ การนำผ้าทอ มาสร้างมูลค่าเพิ่ม จากภูมิปัญญาดั้งเดิม ผ้าที่บรรพบุรุษได้ช่วยกันถ่ายทอดกันต่อๆมานั้น นำมาปรับปรุงให้เกิดรูปแบบของชุดใหม่ๆ ที่สามารถนำไปสวมใส่ได้อย่างสวยงาม ปัจจุบัน กลุ่มนี้ มีสมาชิก 12 คน ผู้นำกลุ่ม คือ คุณทองอิน ปัสสาสัย วัย 63 ปี ที่มีฝีมือทั้งการตัดเย็บ และออกแบบ ชุดเสื้อผ้าสตรี ฝีมือเยี่ยม…. ผลิตภัณฑ์ งานฝีมือของกลุ่ม “เฮือนฝ้ายงาม” ที่มีให้ เลือก ภายใน ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าโอทอป ขอนแก่น ได้แก่………..

ชุดแซกหางปลา : ตัดเย็บ จากผ้าฝ้าย แบบน่ารัก แขนตุ๊กตา ปล่อยชายกระโปรงพริ้วเหมือนกับหางปลา ว่ายไหวๆ

ชุดแซกคอจีนดอกฝิ่น : ชุดผ้าฝ้ายเต็มตัว ที่เนื้อผ้ามีความนุ่ม และโบที่มีลักษณะเป็นดอกฝิ่น สีทึมทึบ จึงช่วยทำให้รูปร่างของคุณๆ ดูเล็กลงทันตา

—————————————————————–

ติดตาม “ชีวิตและสินค้า –Life & Products“ กันได้….ในตอนต่อไป
….พบกัน เสาร์ หน้า ว่าเราจะพาไปรู้จัก จังหวัดขอนแก่น ในแง่มุม ไหน อีก นะ..นะ..

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *